อนึ่งภูษาผ้าทรงณรงค์รบ
ให้มีครบเครื่องเสร็จทั้งเจ็ดสี
วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี
เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล
เครื่องวันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว
จะยืนยาวชันษาสถาผล
อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน
เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี
เครื่องวันพุธสุดสีด้วยสีแสด
กับเหลือบแปดปนประดับสลับสี
วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี
วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม
วันเสาร์ทรงดำจึงล้ำเลิศ
แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม
หนึ่งพาชีขี่ขับประดับงาม
ให้ต้องตามสีสรรพ์จึงกันภัย ฯ
"สวัสดิรักษาคำกลอน" สุนทรภู่แต่งขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 2364-2367 ของเดิมจาก "สวัสดิรักษาคำฉันท์" ฉบับเก่าเป็นภาษาบาลี ที่มีผู้แต่งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา
การได้ดูละครพีเรียดย้อนยุค หรือ ได้อ่านนิยายย้อนยุค ก็ทำให้คิดถึงเครื่องแต่งกายของคนสมัยก่อน
สมัยอยุธยา
คนไทยมีความเชื่อเรื่องการนุ่งห่มด้วยสีที่เป็นมงคล ซึ่งก็คือ สีประจำวันทั้งเจ็ดนั่นเอง
- วันอาทิตย์สวมเสื้อผ้าสีแดง
- วันจันทร์สวมสีขาวนวล
- วันอังคารสวมสีชมพู
- วันพุธสวมสีเขียว
- วันพฤหัสบดีสวมสีเหลืองอ่อน
- วันศุกร์สวมสีฟ้าอ่อน
- วันเสาร์สวมสีดำ
การซื้อขายผ้าในกรุงศรีอยุธยา เป็นที่นิยมจนกรุงศรีอยุธยาเป็นแหล่งค้าผ้าที่สำคัญของพ่อค้า นอกจากผ้าที่ทอขึ้นเองแล้ว ยังมีผ้าที่สั่งเข้ามาจากจีน อินเดีย และทางฝั่งยุโรป เช่น อังกฤษ หรือ ฮอลันดา นอกจากที่จะซื้อหากันมาทำเครื่องนุ่งห่มแล้ว ยังนิยมเอามาตกแต่งเครื่องเรือน หรือของใช้อื่นๆ อีกด้วย
นอกจากนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาลักษณะของผ้ายังแสดงถึงฐานะของผู้สวมใส่อีกด้วย หากขุนนางได้รับปูนบำเหน็จความดีความชอบ ก็จะได้รับพระราชทาน "ผ้าสมปัก" เอาไว้สวมใส่เมื่อเข้าเฝ้าอีกด้วย
ผ้าสมปักมีหลายชนิด
ผ้าสมปัก คือผ้าที่ทอด้วยไหม เพราะกลางผืนผ้ามีสีและลวดลายต่างๆ มีขนาดกว้างยาวกว่าผ้านุ่งธรรมดา เพราะใช้เป็นผ้านุ่งแบบโจงกระเบน
สำหรับใช้ในฐานะ และตำแหน่งที่แตกต่างกัน เช่น สมปัก ลายหัวหมื่นนายเวรใช้ สมปักไหมเจ้ากรมปลัดกรมใช้ ส่วนมหาดเล็กใช้ผ้าลาย บางทีการนุ่งผ้าสมปักก็ขึ้นอยู่กับโอกาส หรือพิธีบางอย่างอีกด้วย
สมัยรัตนโกสินทร์
สตรีชาววังยัง “นุ่ง” และ “ห่ม” ผ้าสีตามวันยังคงใช้ผ้าสีตัดกัน คือผ้านุ่งสีหนึ่ง ผ้าห่มอีกสีหนึ่ง ดังที่มีอยู่ในนิยายเรื่อง "สี่แผ่นดิน" แม่ของพลอย ได้สอนเรื่องการจัดผ้านุ่ง ผ้าห่ม ตามสีประจำวันของสาวชาววังในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าต้องแต่งตัวอย่างไรจึงจะถูกต้อง
“แต่งตัวเร่อร่าเป็นคนบ้านนอก เดี๋ยวเขาจะหาว่าแม่เป็นชาววังแล้วไม่สอน”
วันจันทร์ นุ่งเหลืองอ่อนห่มน้ำเงินอ่อน หรือจะห่มบานเย็นก็ได้ หรือถ้านุ่งสีน้ำเงินนกพิราบต้องห่มจำปาแดง
วันอังคาร นุ่งสีปูนหรือม่วงเม็ดมะปรางแล้วห่มโศก หรือถ้านุ่งโศกหรือเขียวอ่อน ต้องห่มม่วงอ่อน
วันพุธ นุ่งสีถั่วก็ได้ สีเหล็กก็ได้แล้วห่มจำปา
วันพฤหัส นุ่งเขียวใบไม้ ห่มแดงเลือดนก หรือนุ่งแสดห่มเขียวอ่อน
วันศุกร์ นุ่งน้ำเงินแก่ ห่มเหลือง
วันเสาร์ นุ่งเม็ดมะปราง ห่มโศก หรือนุ่งผ้าลายพื้นม่วง ห่มโศก
วันอาทิตย์ นุ่งเขียว ห่มแดง หรือนุ่งผ้าลายพื้นสีลิ้นจี่ หรือสีเลือดหมู ห่มโศก
เวลาไว้ทุกข์ นุ่งผ้าลายพื้นม่วง ห่มสีนวล
อ้างอิง
- สารานุกรมไทยฉบับเยาวชน http://kanchanapisek.or.th/
- รูปตัวอย่างจากละคร ข้าบดินทร์
- รูปตัวอย่างจากละคร บุพเพสันนิวาส
- รูปตัวอย่างจาก pinterest